ผ่าฟันคุด
รวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับฟันคุด
“ฟันคุด” คือฟันแท้ที่ไม่สามารถขึ้นมาได้ตามปกติ เป็นฟันที่ฝังอยู่ใต้เนื้อเยื่อของเหงือกและบริเวณกระดูกขากรรไกร ฟันคุดจะไม่สามารถมองเห็นได้ถ้าตัวฟันไม่โผล่พ้นขึ้นมาเหนือเหงือก ต้องใช้การเอกซ์เรย์จึงจะสามารถมองเห็นได้
ทำไมคนเราถึงมีฟันคุด
น่าสงสัยไหม ว่าทำไมร่างกายของเราจะต้องมีฟันกรามซี่ในสุดเพื่อที่สุดท้ายจะต้องถูกถอนออก หรือผ่าทิ้งด้วย?
นักมานุษยวิทยาเชื่อว่า ฟันกรามซี่ในสุด หรือ Wisdom teeth มีความสำคัญต่อมนุษย์สมัยโบราณ ที่ยังต้องเคี้ยวอาหารที่ต้องใช้ฟันกรามที่แข็งแรงในการบดเคี้ยว เช่น รากไม้ ใบไม้ ถั่ว เนื้อสัตว์ที่มีความเหนียวเนื่องจากยังไม่มีการปรุงสุก ไม่มีมีด ช้อนส้อม ช่วยตัดอาหารเหมือนในปัจจุบัน ทำให้มนุษย์โบราณมีกรามที่ใหญ่และแข็งแรง
แต่ปัจจุบัน การวิวัฒนาการของมนุษย์ที่มีสมองโตมากขึ้น กินอาหารอ่อนตั้งแต่เด็ก ทำให้ขากรรไกรหดลง กรามเล็กลงกว่าเดิม ทำให้ฟันกรามซี่ในสุดของคนเรามีพื้นที่ให้ขึ้นมาน้อยลง ส่งผลให้เกิดมีฟันคุดนั่นเอง
คนยุค Baby bloomer หรือ Gen X ยังคงทานอาหารพวกเนื้อสัตว์ อาหารที่มีเส้นใย ทำให้ขากรรไกรยังมีการเจริญเติบโต จึงมีพื้นที่ให้ฟันกรามซี่ในสุดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ แต่เด็กยุค Gen Y เป็นต้นไปเริ่มทานอาหารอ่อนตั้งแต่ยังเล็กมากขึ้น ทำให้ขากรรไกรเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ จึงมักมีฟันคุดกัน
ไม่มีอาการปวด ต้องเอาฟันคุดออกไหม?
ในบางคนที่มีฟันคุด อาจจะไม่ปวดหรือไม่มีอาการใดเลย จึงหลีกเลี่ยงที่จะเอาฟันคุดออก แต่อย่างไรก็ตามการมีฟันคุด หากปล่อยไว้จะมีความเสี่ยงต่อภาวะต่างๆตามมา
- เกิดฟันผุในฟันกรามซี่ข้างเคียง
- ฟันเรียงเก จากแรงดันของฟันคุดที่ทำให้เกิดการเคลื่อนของฟันข้างเคียง เกิดการเรียงตัวที่ซ้อนกันได้
- เกิดการละลายตัวของกระดูก เนื่องจากแรงดันจากฟันคุดที่พยายามดันขึ้นมา ทำให้กระดูกรอบรากฟันถูกทำลายไป
- กระดูกขากรรไกรหัก อันเป็นผลมาจากการที่มีฟันคุดฝังอยู่ ทำให้กระดูกบริเวณขากรรไกรบางกว่าตำแหน่งอื่นเกิดเป็นจุดอ่อน เมื่อได้รับอุบัติเหตุหรือกระทบกระแทก กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นก็จะหักได้ง่าย
ดังนั้นหากมีฟันคุด ต้องบอกว่าการผ่าออกถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แต่ถ้าไม่มีอาการก็อาจจะรอได้ เพราะไม่ได้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนมากนัก
สรุปสาเหตุที่ต้องผ่าฟันคุดออก
- ป้องกันอาการปวด จากแรงดันของฟันคุดเบียดฟันซี่ข้างๆ
- ฟันคุดอาจทำให้มีกลิ่นปาก และฟันซี่อื่นผุ จากเศษอาหารที่เข้าไปติดอยู่ใต้เหงือก หรือซอกฟันระหว่างฟันคุดและฟันข้างเคียง แล้วไม่สามารถทำความสะอาดได้ เชื้อแบคทีเรียที่มาสะสมอยู่จะทำให้เหงือกอักเสบ ปวด บวมเป็นหนองมีกลิ่นปาก หรือฟันผุบริเวณซอกฟันได้
- ป้องกันฟันเรียงเก จากแรงดันของฟันคุดทำให้เกิดการเคลื่อนของฟันข้างเคียง
- ป้องกันการละลายตัวของกระดูก จากแรงดันของฟันคุดที่พยายามดันขึ้นมาทำให้กระดูกรอบรากฟันถูกทำลายไป
- ป้องกันการเกิดถุงน้ำ (Cyst) หรือเนื้องอกฟันคุดที่ทิ้งไว้นาน จากเนื้อเยื่อที่หุ้มรอบฟันคุดขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นถุงน้ำแล้วโตขึ้นโดยไม่แสดงอาการ จนในที่สุดเกิดการทำลายฟันซี่ข้างเคียง และกระดูกรอบๆบริเวณนั้น
- ป้องกันกระดูกขากรรไกรหัก จากการที่ฟันคุดฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกร ทำให้กระดูกบริเวณนั้นบางกว่าตำแหน่งอื่น เกิดเป็นจุดอ่อนเมื่อได้รับการกระแทกจากอุบัติเหตุอาจทำให้กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นหักได้ง่าย
คำถามที่พบบ่อย
เมื่อไหร่ที่ควรผ่าฟันคุดออก?
การผ่าฟันคุดในช่วงที่ฟันกำลังมีการสร้างรากฟันเสร็จแล้วประมาณครึ่งราก แต่ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ มักเป็นช่วงที่ผ่าได้ง่ายที่สุดของฟันคุด โดยช่วงอายุการเจริญของฟันขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละคน โดยมากจะเป็นช่วงอายุ 15-20 ปี ทันตแพทย์จึงแนะนำให้มีการตรวจประเมิน วางแผนรักษาฟันคุดในช่วงอายุดังกล่าว
ผ่าฟันคุด เจ็บไหม และหลังผ่านานแค่ไหนถึงหาย?
ทันตแพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่ในการผ่าฟันคุด เพื่อไม่ให้รู้สึกเจ็บปวดขณะผ่าหรือถอน หลังจากนั้น ทันตแพทย์จะเย็บแผลด้วยไหมเย็บ โดยให้คนไข้กัดผ้าก๊อซไว้แน่นประมาณ 1 ชั่วโมงเพื่อห้ามเลือด
โดยเฉลี่ยอาจมีอาการปวด บวม หรือช้ำ อยู่บ้างประมาณ 2-3 วันต่อมา แต่หลังจากนั้นอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นและหายเป็นปกติใน 2 สัปดาห์