ทันตกรรมทั่วไป
ขูด อุด ถอน
เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดี ควรเข้าพบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน เพื่อรับการขูดหินปูนและตรวจเช็กสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ
การขูดหินปูน (Dental Scaling)
หินปูนคืออะไร
โดยปกติในการใช้ชีวิตประจำวัน อาจเกิดคราบจุลินทรีย์ (Dental Plaque) ที่มีลักษณะเหนียวเป็นแผ่นฟิล์มที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียมาเกาะที่ฟันได้ ซึ่งถูกกำจัดได้ด้วยการแปรงฟันและการใช้ไหมขัดฟัน โดยส่วนของคราบที่ยังหลงเหลืออยู่อาจจะจับกันเป็นแผ่นหนาขึ้นจนกลายเป็นหินปูน หากปล่อยไว้อาจทำให้เกิดกลิ่นปาก โรคเหงือก และการสูญเสียฟันตามมาภายหลัง
การขูดหินปูน (Dental Scaling)
คือ การใช้เครื่องมือทางทันตกรรมเพื่อขจัดคราบหินปูนที่เกาะอยู่ตามบริเวณฟันและซอกฟันให้หลุดออกไป เป็นการป้องกันโรคเหงือกและฟันที่อาจเกิดขึ้น เพื่อคงไว้ซึ่งสุขภาพช่องปากที่แข็งแรง
สัญญาณเตือนว่าถึงเวลาขูดหินปูน
เมื่อมีเลือดออกขณะแปรงฟัน มีเลือดออกตามไรฟัน เสียวฟัน ผิวฟันขรุขระ และสังเกตเห็นคราบหินปูน
การป้องกันคราบหินปูนสะสม
การป้องกันการเกิดคราบหินปูนสะสม ทำได้โดยการดูแลสุขภาพช่องปากให้สะอาด แปรงฟันให้ถูกวิธีและแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใช้ไหมขัดฟัน เพื่อขจัดคราบเศษอาหารที่ติดตามร่องฟันอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดคราบแบคทีเรีย และหินปูนสะสมได้
และที่สำคัญ ควรพบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน เพื่อทำความสะอาดช่องปากและขูดคราบหินปูนที่สะสม เพื่อรักษาสุขภาพปากให้สะอาดแข็งแรง
การอุดฟัน (Dental Filling)
เป็นการซ่อมแซมฟันโดยใช้วัสดุอุดฟันเข้าไปอุดรูหรือโพรงที่เกิดจากฟันผุ เพื่อปิดช่องทางไม่ให้แบคทีเรีย หรือเศษอาหารตกเข้าไปจนเกิดความเสียหายแก่เนื้อฟันเพิ่มมากขึ้น และเป็นการยึดเนื้อฟันเข้าด้วยกันกรณีฟันร้าว
ปัจจุบันนี้ ผู้คนมากมายมีปัญหาเกี่ยวกับฟันผุ แล้วไม่ได้รับการรักษาจนเกิดความเจ็บป่วยหรือสูญเสียฟันก่อนวัยอันควร ดังนั้นเมื่อพบฟันผุขนาดเล็ก ยังไม่มีอาการปวด ให้รีบมาอุดฟัน หากปล่อยไว้จนผุใหญ่จนทะลุโพรงประสาทฟัน จนเสียวหรือปวดฟันอาจจะอุดไม่ได้แล้ว ต้องถอนฟันหรือรักษารากฟัน ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น
วัสดุที่นำมาใช้อุดฟัน
- อมัลกัม (Amalgam) เป็นวัสดุชนิดแรกที่นำมาใช้ในการอุดฟัน เป็นวัสดุที่ผสมจากปรอท เงิน ดีบุก หรือโลหะอื่นๆ อยู่ได้ประมาณ 10-15 ปี ทนทานต่อแรงบดเคี้ยว แต่มีข้อเสียคือไม่ใช่สีเดียวกับผิวฟัน และต้องรอ 24 ชั่วโมงถึงจะใช้ฟันที่อุดในการบดเคี้ยวอาหารได้
- คอมโพสิตเรซิ่น (Composite Resin) เป็นวัสดุที่มีสีเหมือนฟันธรรมชาติ และนิยมใช้ในปัจจุบันมากที่สุด ถูกพัฒนามาเพื่อให้ใช้อุดได้ทั้งฟันหน้า และฟันกราม ให้ความสวยงามและแข็งแรงทนทาน และสามารถใช้บดเคี้ยวได้ทันทีหลังอุด
การถอนฟัน (Tooth Extraction)
การถอนฟัน เป็นการนำฟันซี่ที่ไม่สามารถรักษาได้ หรือฟันที่อาจก่อให้เกิดปัญหาในอนาคตออก ซึ่งโดยมากจะเป็นการรักษาที่ทันตแพทย์จะแนะนำเป็นวิธีสุดท้าย เพราะหากฟันยังสามารถรักษาด้วยการรักษาทางทันตกรรมวิธีอื่นๆได้ ก็จะเลือกวิธีการรักษานั้นๆก่อน เนื่องจากการถอนฟันจะสูญเสียฟันธรรมชาติไปอย่างถาวร และอาจะสร้างปัญหาให้ฟันซี่ข้างเคียงเกิดการเคลื่อนตัวไปในทิศทางที่เปลี่ยนไปจากเดิมได้หากไม่ได้ใส่ฟันปลอม
สาเหตุของการถอนฟัน
- ฟันผุ – ฟันผุมากและปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานานจนทำให้แบคทีเรียทำลายไปถึงโพรงประสาทฟัน จนไม่สามารถรักษาได้ด้วยการอุดฟัน หรือรักษารากฟัน มีอาการปวดฟันอย่างรุนแรง ซึ่งหากปล่อยไว้อาจลุกลามไปยังฟันซี่ข้างเคียง
- ถอนฟันร่วมกับการจัดฟัน – เพื่อให้เกิดช่องว่างในการเรียงตัวของฟันใหม่ เป็นการเตรียมก่อนเข้ารับการจัดฟัน ทันตแพทย์จัดฟันจะเป็นผู้วางแผนรักษาว่าจะต้องถอนฟันซี่ไหนบ้าง ขึ้นอยู่กับลักษณะฟันของผู้ที่จะจัดฟันแต่ละคน
- โรคเหงือก – มีปัญหาโรคเหงือกอย่างรุนแรง โรคเหงือกอักเสบถ้าเป็นในระยะที่รุนแรงจะทำให้กระดูกรองรับฟันละลาย และฟันโยกได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจะทำให้ฟันหลุด หรือต้องถอนฟัน
- อุบัติเหตุ – อาจจะเกิดจากอุบัติเหตุ ทำให้มีความจำเป็นต้องถอนฟัน เนื่องจากเนื้อฟันเหลือน้อยเกินไปจนไม่สามารถแก้ไขด้วยการอุดฟัน รักษารากฟัน หรือครอบฟันได้
- อยู่ในตำแหน่งที่ไม่สามารถขึ้นได้ – เช่น ฟันคุด ฟันฝัง